เครื่องใช้ไฟฟ้ามีเหตุที่โดนน้ำท่วมแล้วจะเสียทันทีจะมีสาเหตุ ดังนี้
- มีมอเตอร์เป็นส่วนประกอบ มอเตอร์คือ ส่วนที่จะปั่น หมุน เป็นกลไกของ เครื่องเล่น DVD เครื่องซักผ้า พัดลม แอร์ (ส่วน compressor) และอื่นๆ ซึ่งส่วนของมอเตอร์นี้ จะเสียง่ายเมื่อโดนน้ำ เพราะว่า กลไกข้างในที่ซับซ้อน พอโดนน้ำแล้วก็จะช็อต(ลัดวงจร) ได้ง่าย ทำให้เสีย หรือเป็นอันตราย บางคนรู้ดี เห็นพัดลมส่วนของมอเตอร์โดนน้ำท่วม ก็คิดจะเอาน้ำฉีดทำความสะอาดแล้วไปใช้ใหม่ ขอบอกว่า อันตรายครับ เพราะจริงอยู่สิ่งสกปรกจะทำให้มอเตอร์หมุนไม่สะดวกได้ แต่เอาน้ำล้าง หรือฉีด อาจจะนำพาสิ่งสกปรกเข้าไปในส่วนที่ลึกยิ่งขึ้นก็ได้ ดังนั้น ถ้าอุปกรณ์เหล่านั้น โดนน้ำท่วม แต่ไม่โดนส่วนที่เป็นมอเตอร์ก็น่าจะยังใช้ได้เมื่อแห้งแล้ว แต่ถ้าน้ำโดนส่วนมอเตอร์ แนะนำให้ทิ้งแล้วซื้อใหม่ครับเพราะมันอันตรายเกินกว่าจะใช้ (และหากว่ามันยังใช้งานได้ เมื่อโดนสิ่งสกปรกเข้าไปแล้วครั้งหนึ่ง มันจะกินไฟมากกว่าเดิมครับ)
- มีแผงวงจร ส่วนของแผงวงจร ปกติแล้วถ้าแห้งก็ใช้งานได้ปกติครับ แผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ ปัจจุบันอยู่ในอุปกรณ์แทบทุกอย่าง ทั้ง มือถือ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แต่ที่เป็นปัญหา คือ อุปกรณ์เหล่านี้ ประกอบขึ้นมาแบบซับซ้อน เมื่อน้ำเข้าไปแล้ว เราไม่รู้ว่ามันแห้งเมื่อไหร่ (นอกจากจะถอดออกมา เพื่อให้แน่ใจว่าแห้งทุกชิ้น ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ ที่คนทั่วไปจะถอดประกอบได้เก่งขนาดนั้น) ดังนั้น เมื่อภายนอกแห้ง ภายในอาจจะยังมีความชื้นหลงเหลือ และเช่นเดียวกันครับ คือ เมื่อน้ำ หรือความชื้นในเครื่องทำให้เกิดการลัดวงจรได้ ดังนั้น จะเสีย หรือเป็นอันตรายครับ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับมอเตอร์คือ หากน้ำท่วมอุปกรณ์แต่ไม่โดนส่วนที่เป็นแผงวงจรก็น่าจะยังใช้งานได้ แต่ถ้าโดนแผงวงจรไปแล้วลองให้ช่างเครื่องใช้ไฟฟ้าเช็คซะก่อนดีกว่า
- ความชื้น บางครั้งถึงแม้เครื่องใช้ไฟฟ้าเราจะไม่โดนน้ำท่วมถึง แต่อยู่ในบริเวณน้ำท่วมก็มีโอกาสที่จะมีความชื้นเช่นกัน ดังนั้น อย่าคิดแค่ว่า “ไม่เปียก” ต้องแน่ใจว่า “ไม่ชื้นด้วย” เพราะแม้จะไม่เปียกแต่ ความชื้นที่เรามองไม่เห็น เป็นจุดบ่มเพาะเชื้อรา เชื้อโรคได้ครับ ทีนี้ใช้ไปก็สูดเชื้อโรคไปไม่รู้ตัวกัน
- สารป้องกันสนิม (rust inhibitor) สำหรับบางคนที่รู้เยอะ ก็นำสเปรย์พ่นกันสนิมมาฉีดอุปกรณ์ก่อน ซึ่งสารเหล่านี้ก็ช่วยได้ดีไม่ให้ความชื้นเข้า ทำให้สบายใจได้เปราะหนึ่ง (ถ้าเครื่องใช้นี้ไม่จมน้ำนะ)
- เสี่ยงใช้หรือส่งซ่อม ผมคิดว่า อุปกรณ์ที่ใช้กับไฟบ้าน ถ้ามีความเสี่ยงข้างต้นที่บอกแล้ว และเป็นอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้า เสียบใช้กับไฟบ้านละก็ อย่าเสี่ยงครับ อย่างน้อยให้เช็ค ให้ซ่อม หรือจะทิ้งไปเลยก็ได้ไฟฟ้า 220 โวลต์นะครับ เครื่องตัดไฟยังทำงานได้ดีอยู่หลังน้ำท่วมดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าเสี่ยงครับ
- ไม่เสียบปลั๊กก็ยังอันตราย เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น โทรทัศน์ จะมีส่วนที่เก็บประจุ ซึ่งแม้ไม่เสียบปลั๊ก แค่ไปสัมผัสหรือเปิดสวิทซ์คุณจะมีโอกาสโดนไฟดูดได้ครับ ต้องระวังด้วยนะครับ (ด้วยการใช้อุปกรณ์เช็คไฟต่างๆก่อน เท้าไม่สัมผัสน้ำ)
- ยกสูงหรือห่อไว้ คือ ทางเลือกที่ดีที่สุด (สำหรับคนที่กำลังจะเจอน้ำท่วมต่อๆไป ให้พิจารณาข้อดีครับ ป้องกันดีกว่า แก้ไขแน่นอน)
ซ่อม ตู้เย็น
– หลายคนก็จะถามเรื่อง ตู้เย็น หลังน้ำท่วม เพราะส่วนใหญ่ตู้เย็น หนักหรือใหญ่เกินจะยกขึ้นชั้นสูงๆ เลยต้องปล่อยไปให้ท่วม ตู้เย็นจะมี compressor (ตัวปั่นความเย็น) ที่ประกอบด้วยมอเตอร์ด้านหลัง ช่วงล่างๆ (ส่วนใหญ่) และแผงวงจรด้านในเครื่องที่มักจะอยู่ด้านหลัง ดังนั้น ที่เขาว่า ถ้าตู้เย็นลอยน้ำแล้วคว่ำหน้า (ที่มันลอยเพราะว่า ฉนวนด้านในส่วนใหญ่คือ โฟมครับ) แสดงว่าน่าจะใช้งานได้ก็ ตรงกับที่บอกเบี้องต้น คือ เพราะมอเตอร์กับแผงวงจรที่อยู่ด้านหลังมันเป็นส่วนที่ลอยน่ะครับ ก็มีโอกาสใช้งานได้ครับ (แนะนำว่าก็ผูกประตูตู้เย็นให้ดี และหาที่ยึดไม่ให้มันลอยไปกระทบอะไรแล้วกัน)
ต่อมาคือ ถ้าตู้เย็นคุณเก่าแล้ว และดูเหมือนจะมีรูรั่วต่างๆ อย่าเสี่ยงที่จะใช้งานต่อเพราะน้ำท่วมเข้าไปได้ จะขังเป็นแหล่งเชื้อโรคและหลายคนที่กังวลว่า มันจะมีความชื้นในเครื่อง ส่วนที่แช่ของมั้ย คือ ถ้าน้ำเข้าไปได้ ก็มีความชื้นแน่นอนครับ และจะเหม็นด้วย (สำหรับคนที่ห่อพลาสติกก็รอดไป) ถ้าจะทำความสะอาดต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อด้วยครับ เดี๋ยวจะบอกต่อไปครับ
ซ่อม พัดลม
– พัดลมจะมีมอเตอร์ที่ตัวใบพัด กับแผงวงจรที่ตัวปุ่มปิดเปิด ปรับความเร็วนั่น ถ้าไม่โดนน้ำท่วมส่วนนี้ก็น่าจะใช้งานได้ปกติครับ สำหรับพัดลมเพดาน ซึ่งไม่เปียกน้ำ แต่ก็ให้แน่ใจสำหรับการขจัดความชื้นออกจากบ้านเสียก่อน แล้วเช็คด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนใช้ก็จะดีมากครับ
ซ่อมแอร์ เครื่องปรับอากาศ
– สำหรับแอร์ เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งส่วน compressor ถ้าโดนน้ำ แนะนำว่า ให้ช่างมาตรวจสอบสถานเดียวครับ เพราะว่า อุปกรณ์ภายในซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะรู้ว่าน้ำยังขังอยู่จุดไหนในเครื่องบ้าง เราๆไม่มีทางคาดคะแนด้วยสายตาครับ ให้ผู้รู้มาดูแลดีกว่า
โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี วิทยุ เครื่องเสียง อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อโดนน้ำท่วมแล้ว โอกาสพังเลยสูงมากครับ และไม่ควรเสี่ยงใช้ด้วยประการทั้งปวง
การล้างทำความสะอาด
- ดึงปลั๊กออกทุกชิ้นก่อนทำความสะอาด
- เปิดบ้าน ประตู หน้าต่าง ประตูตู้เย็น หรือชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่เปิดได้ เพื่อให้ระบายอากาศให้มากที่สุด (แต่ไม่ต้องเอาไปตากแดดนะ) ซึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าจะมั่นใจว่ามันแห้ง
- การล้าง ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไป หรือน้ำยาล้างเครื่องครัว เพื่อขจัดคราบต่างๆออกไป โดยใช้ผ้าเช็ดให้หมาดๆบริเวณด้านนอกเท่านั้น อย่าพยายามล้วงเข้าไปด้านในๆที่ซับซ้อนของกลไก มันอาจจะยิ่งทำให้แย่กว่าเดิม
- ฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคำว่า Disinfectant ในคำบรรยายหรือส่วนประกอบครับ สำหรับเบื้องต้น ที่แนะนำใช้ได้ คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (60-90% ส่วนใหญ่ใช้ 70%) หรือ น้ำยาเดทตอล (Dettol) ไลซอล(Lysol) เคลียร์ซอล(Clearsol) ซึ่งใช้ล้างเครื่องมือการแพทย์ได้
- จากนั้นเช็ดแห้ง ผึ่งอาการให้ระบายอีกครั้ง ถ้าต้องการดับกลิ่นทำให้นำสเปรย์ดับกลิ่น หรือน้ำยากลิ่นหอมเช็ดภายนอกเท่านั้น
- สำหรับตู้เย็น ตู้อบ ใช้ ซองซิลิกาเจล (ดูดความชื้น) ทิ้งไว้ ก่อนจะใช้ครั้งต่อไป เพื่อไล่ความชื้นต่อเนื่องก็ได้ และใช้ถ่านเพื่อดูดกลิ่นด้วยก็ได้
LG จัดแคมเปญ “แอลจีร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม” ให้บริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยไม่คิดค่าบริการ พร้อมมอบส่วนลดสำหรับค่าชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ 30% และทีมงานช่างหน่วยพิเศษให้บริการ ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2554